วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน


จากบทความที่แล้ว เรื่องการนำกากใบชามาทำเป็นปุ๋ย ผมได้เกริ่นถึง พด.1 เอาไว้เล็กน้อย ในบทความนี้ ผม เด็กชายแก้มป่อง จึงได้นำข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินและประสบการณ์ตรงขอผม มาถ่ายทอดให้ได้รับรู้กันครับ
ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งเกิดจากการนำซากหรือเศษเหลือจากพืชมาหมักรวมกัน และผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยกิจกรรมจุลินทรีย์ จนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมเป็นวัสดุที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่แข็งกระด้าง และมีสีน้ำตาลปนดำ







ตามที่ผมศึกษามาจากหมอดิน แห่งอำเภอบางกรวย จ.นนทบุรี คือ คุณ มลิ คล้ายมณี และดำรงต่ำแหน่ง หญิงเก่งประจำตำบล มหาสวัสดิ์ หรือ หญิงเก่งของ อำเภอ บางรวย นี่ผมไม่แน่ใจครับ ที่กล่าวก่อนเพราะท่านเป็นคนมอบความรู้เรื่องนี้ให้ประชาชนทั้งตำบล ได้หันมาใช้ปุ๋ยหมักตามธรรมชาติ แถมยังรักษ์โลกอีกด้วยครับ
อ้อ ตำแหน่งหมอดินนี่ ไม่ได้ตั้งกันขึ้นมาแบบลอยๆ ว่าใครอยากเป็นหมอก็ตั่งได้เหมือน หมอดู หมอนวด ตามอาชีพนะครับ แต่เป็นลักษณะของตำแหน่งที่ได้รับการมอบหมายจากส่วนราชการ ไอ้ส่วนไหนนี่ผมก็จำไม่ได้อีกแหละครับ แต่ขอบอกไว้ว่า หมอดินเนี่ย ไม่ใช่ใครอยากเป็นก็เป็นนะครับ เป็นผู้เชี่ยวชาญ และ ได้รับการแต่งตั่งขึ้นครับ
กลับมาเรื่องปุ๋ยดีกว่า ปุ๋ยที่หมักด้วย พด.1 นี้ บางท่านจะว่ามีกลิ่นเหม็น ผมก็ไม่เถียงนะครับ แต่กลิ่นของปุ๋ย พด.1 นี้ มันก็ไม่ได้มีกลิ่นที่เน่าแต่อย่างใด แต่เป็นกลิ่นเฉพาะตัวของมัน ก็ตามประสาปุ๋ยหมักแหละครับ กลิ่นแรง แต่ขอย้ำอีกที ไม่ใช่กลิ่นเน่าครับ ถึงแม้ว่า วิธีการที่ได้มา คือหมักให้เน่า แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่เยอะครับ
ซึ่งปุ๋ยดังกล่าว เป็นปุ๋ยที่หมักได้ เรียกได้ว่าเป็นปุ๋นเข้มข้น ทีเดียวครับ บางคนใช้แล้ว อาจจะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลยก็ได้ครับ
ที่ว่าซากพืช หรือเศษพืชที่ว่า ก็มาจากในครัวเรือนนั่นแหละครับ พวกอาหารที่เหลือ เปลือกผลไม้ บางท่านเอาต้นหญ้า วัชพืชมาผสมด้วย ก็ดีไปอีกแบบครับ หรือจะใช้กากใบชาจากกระทู้ที่แล้วลงไปด้วยก็ได้ครับ



สารเร่งซุปเปอร์ พด.1


เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใชจากการเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็วและมีคุณภาพสูงขึ้น ประกอบด้วยเชื้อรา และแอคติโนมัยซีสที่ย่อยสารประกอบเซลลูโลส และแบคทีเรียที่ย่อยไขมัน








กลุ่มจุลินทรีย์ดังกล่าว ท่านหมอดิน มลิ คล้ายมณี กล่าวว่า เป็นจุดที่ทำให้แตกต่างระหว่างปุ๋ย พด.1 และการเน่าครับ เพราะกิจกรรมทางจุลินทรีย์จาก พด.1 นี่เอง ทำให้ได้ผลผลิต(สารอาหารในปุ๋ย) แตกต่างจากการเน่าเสีย


จุดเด่นของสารเร่งซุปเปอร์ พด.1




1. มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสารประกอบเซลลูโลส
2. สามารถย่อยสลายน้ำมัน/ไขมันในวัสดุหมักที่สลายตัวยาก
3. ผลิตปุ๋ยหมักในระยะเวลารวดเร็ว และมีคุณภาพ

4. เป็นจุลินทรีย์ที่ทนอุณหภูมิสูง
5. เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างสปอร์จึงเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นาน
6. สามารถย่อยวัสดุเหลือใช้ได้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น







ส่วนผสมของวัสดุ



ในการกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน


เศษพืชแห้ง 1,000 กิโลกรัม

มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม

ปุ๋ยไนโตรเจน 2 กิโลกรัม

สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 1 กิโลกรัม






อันนี้เป็นสูตรของกรมพัฒนาที่ดินครับ หลายๆท่านอาจจะปรับสูตร หรือ เพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยได้ตามวัสดุ อุปกรณ์ที่มีครับ



วิธีการกองปุ๋ยหมัก


การกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน มีขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร การกองมี 2 วิธี ขึ้นกับชนิดของวัสดุที่มีขนาดเล็กให้คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากันแล้วจึงกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนวัสดุที่มีชิ้นส่วนยาวให้กองเป็นชั้น ๆ ประมาณ 3-4 ชั้น โดยแบ่งส่วนผสมที่จะกองออกเป็น 3-4 ส่วน ตามจำนวนชั้นที่จะกอง มีวิธีการกองดังนี้
1. ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร นาน 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ออกจากสภาพที่เป็นสปอร์และพร้อมที่จะเกิดกิจกรรมการย่อยสลาย
2. การกองชั้นแรกให้นำวัสดุที่แบ่งไว้ส่วนที่หนึ่งมากองเป็นชั้นมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม
3. นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืช ตามด้วยปุ๋ยไนโตรเจน แล้วราดสารละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ให้ทั่ว โดยแบ่งใส่เป็นชั้น ๆ
4. หลังจากนั้นนำเศษพืชมากองทับเพื่อทำชั้นต่อไป ปฏิบัติเหมือนการกองชั้นแรก ทำเช่นนี้อีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยควรปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น


ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก








การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก
 รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ย : ให้มีความชื้นประมาณ 50-60%

 การกลับกองปุ๋ยหมัก : กลับกอง 10 วันต่อครั้ง เพื่อเพิ่มออกซิเจน ลดความร้อนในกองปุ๋ย และช่วยให้วัสดุคลุกเคล้ากัน หรือใช้ไม้ไผ่เจาะรูให้ทะลุตลอดทั้งลำและเจาะรูด้านข้างปักรอบ ๆ กองปุ๋ยหมัก ห่างกันลำละ 50-70 เซนติเมตร

 การเก็บรักษากองปุ๋ยหมักที่เสร็จแล้ว : เก็บไว้ในโรงเรือน อย่าตากแดดและฝนจะทำให้ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักสูญเสียไปได้





หลักการพิจารณาปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

1. สี : มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ

2. ลักษณะ : อ่อนนุ่ม ยุ่ย ไม่แข็งกระด้างและขาดออกจากกันได้ง่าย

3. กลิ่น : ปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์จะไม่มีกลิ่นเหม็น

4. ความร้อนในกองปุ๋ย : อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกกอง

5. การเจริญของพืชบนกองปุ๋ยหมัก : พืชสามารถเจริญบนกองปุ๋ยหมักได้โดยไม่เป็นอันตราย

6. การวิเคราะห์ทางเคมี : ค่าอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนเท่ากับหรือต่ำกว่า 20 : 1


อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยหมัก


 ข้าว : ใช้ 2 ตันต่อไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูกพืช

 พืชไร่ : ใช้ 2 ตันต่อไร่ โรยเป็นแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน

 พืชผัก : ใช้ 4 ตันต่อไร่ หว่านทั่วแปลงปลูกไถกลบขณะเตรียมดิน

 ไม้ผล ไม้ยืนต้น :

เตรียมหลุมปลูก : ใช้ 20 กิโลกรัมต่อหลุม คลุกเคล้าปุ๋ยหมักกับดินใส่รองก้นหลุม

ต้นพืชที่เจริญแล้ว : ใช้ 20-50 กิโลกรัมต่อต้น ขึ้นกับอายุของพืช โดยขุดร่องตามแนวทรงพุ่มใส่ปุ๋ยหมักในร่องและกลบด้วยดิน หรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม
 ไม้ตัดดอก ใส่ปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่ ไม้ดอกยืนต้นใช้ 5-10 กิโลกรัมต่อหลุม

 ใส่ปุ๋ยหมักช่วงเตรียมดิน และไถกลบขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ จะทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์ต่อพืชสูงสุด


ประโยชน์ของปุ๋ยหมัก

 ปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินร่วนซุย การระบายอากาศ และการอุ้มน้ำของดินดีขึ้น รากพืชแพร่กระจายได้ดี

 เป็นแหล่งธาตุอาหารพืชทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ

 ดูดยึดและเป็นแหล่งเก็บธาตุอาหารในดินไม่ให้ถูกชะล้างสูญเสียไปได้ง่าย และปลดปล่อยออกมาให้พืชใช้ประโยชน์ทีละน้อยตลอดฤดูปลูก

 เพิ่มความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดเป็นด่างของดิน

 เพิ่มแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ดิน ทำให้ปริมาณและกิจกรรมจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินเพิ่มขึ้น







คำเตือน : การหมักปุ๋ยในจำนวนมาก มันย่อมมีกลิ่นเกิดขึ้น ขอให้ระวังเรื่องนี้ด้วยครับ อาจจะไปรบกวนชาวบ้านเอา แล้วจะวุ่นวายครับ



ขอขอบคุณ ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน


ขอขอบคุณ หมอดิน มลิ คล้ายมณี




ลงบล็อค http://ilgreatli.blogspot.com/ ณ.วันที่ 11 / 4 / 2011


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น